วันศุกร์ที่ 2 ธันวาคม พ.ศ. 2559

28.มูลเหตุของการทำสงครามสหรัฐ-อิรัก


มูลเหตุของการทำสงครามสหรัฐ-อิรัก
1x42.gif
หลังเหตุการณ์ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001สหรัฐฯได้ประกาศทำสงครามกับประเทศที่ให้การสนับสนุนการก่อการร้ายอย่างเต็มรูปแบบ
โดยเริ่มปฏิบัติการในอัฟกานิสถานเป็นประเทศแรก ต่อมาประธานาธิบดีสหรัฐฯ จอร์จ
ดับเบิ้ลยู บุช ประกาศชัดเจนว่า ประเทศอิรัก อิหร่าน และเกาหลีเหนือ เป็นกลุ่มแกนนำแห่งความชั่วร้าย หรือ “อักษะแห่งความชั่วร้าย”
โดยมีความเป็นไปได้ว่าประเทศเหล่านั้นอาจจะร่วมมือกับกลุ่มผู้ก่อการร้ายที่มีอยู่มากมายหลายกลุ่ม
สหรัฐพุ่งเป้าไปที่ประเทศอิรัก โดยให้เหตุผลว่าประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน ครอบครองอาวุธที่เป็นภัยร้ายแรงมาก
อีกทั้งยังให้ที่พักพิง แก่ผู้ก่อการร้ายกลุ่มอัลกออิดะห์ ของนาย โอซามา บิน ลาเด็น ซึ่งเท่ากับว่า อิรักมีส่วนเกี่ยวพันกับการโจมตีอาคารเวิร์ลเทรดเซนเตอร์ เมื่อวันที่ 11 ก.ย. 2001 ด้วย

วัตถุประสงค์ในการทำสงครามสหรัฐ-อิรัก
เมื่อ 21 มี.ค 2546 นายโดนัลด์ รัมสเฟลด์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ
ได้ประกาศวัตถุประสงค์ในการโจมตีอิรักไว้ดังนี้
1. ยุติการปกครองซึ่งนำโดยประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน
2. ทำลายล้างอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง
3. ค้นหาและตรวจจับตัวผู้ก่อการร้ายที่เข้ามาซ่อนตัวในอิรัก
4. รวบรวมข่าวเพื่อค้นพบเครือข่ายการลักลอบการค้าอาวุธที่ทำลายล้างสูงในโลกและเครือข่ายการก่อการร้ายในอิรักและประเทศอื่นๆ
5. ยุตินโยบายการแทรกแซง และเริ่มนำความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม ทั้งด้านอุปโภคบริโภคและยาให้แก่ชาวอิรัก

6. รักษาความปลอดภัยบ่อน้ำมันและทรัพยากรของชาวอิรัก เพื่อให้ชาวอิรักได้นำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และฟื้นฟูประเทศหลังจากล้มล้างรัฐบาลประธานาธิบดี ซัดดัม ฮุสเซน
7. ช่วยให้ชาวอิรักมีรัฐบาลที่ไม่เป็นภัยกับประชากรเพื่อนบ้านและไม่สนับสนุนการก่อการร้าย

สรุปเหตุการณ์การสู้รบในสงครามสหรัฐ-อิรัก
สหรัฐเริ่มการโจมตีอิรักตามแผนยุทธการ "Operation Iraqi Freedom" เมื่อวันที่ 20 ปี ค.ศ. 2003 โดยเน้นการโจมตีทางอากาศอย่างหนักหน่วงรุนแรง
เพื่อสังหารผู้นำอิรัก พร้อมกับทำลายที่ตั้งทางทหาร และที่ทำการของรัฐบาล โดยให้มีผลกระทบต่อพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานน้อยที่สุด
หลังการโจมตีอิรักเป็นเวลาประมาณ 3 สัปดาห์ ทหารสหรัฐฯ ก็รุกเข้าถึงกรุงแบกแดดและยึดพื้นที่ไว้ได้ วันที่ 9 เมษายน 2003 นาย Mohammed Aldouri เอกอัครราชทูตอิรักประจำ สหประชาชาติ ยอมรับว่าการต่อสู้สิ้นสุดลงแล้ว
โดยไม่สามารถติดต่อกับรัฐบาลอิรักที่กรุงแบกแดดได้ ประกอบกับการที่เอกอัครราชทูตอิรักในหลายประเทศ มีความสับสนเกี่ยวกับสถานภาพของรัฐบาลอิรัก
จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันว่ารัฐบาลประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซน หมดอำนาจลงแล้ว
ภายหลังจากสหรัฐอเมริกา ได้โค่นล้มประธานาธิบดีซัดดัม และได้เข้ายึดครองอิรักเป็นเวลานานกว่าหนึ่งปี
ปรากฏว่าไม่พบหลักฐานตามที่ประธานาธิบดีบุชได้กล่าวอ้างแต่อย่างใด คณะกรรมาธิการข่าวกรอง ของวุฒิสภาของสหรัฐอเมริกาที่ตั้งขึ้นมา เพื่อตรวจสอบเกี่ยวกับเรื่องนี้
ได้ข้อสรุป และเปิดเผยอย่างเป็นทางการว่า
สหรัฐอเมริกาได้รุกรานอิรักโดยอาศัยข้อมูลข่าวกรองที่ไม่ถูกต้อง และเป็นข้อมูลที่ไม่ชอบธรรม ที่ประธานาธิบดีบุชใช้เป็นข้ออ้างในการทำสงคราม
นอกจากนี้ คณะกรรมาธิการชุดนี้ยังพบว่า สำนักข่าวกรองกลาง ไม่สามารถหาหลักฐานที่น่าเชื่อมาแสดงว่า ซัดดัมกับกลุ่มก่อการร้ายอัลกออิดะห์ เป็นพันธมิตรกันไม่ว่าจะมองในแง่มุมใดก็ตาม

1x42.gif
ประวัติศาสตร์
ชาญวิทย์  ปรีชาพาณิชพัฒนา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น